วาเลนไทน์

วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

โซลาร์เซลล์

ใช้ “โซลาร์เซลล์” ผลิตไฟฟ้าไล่ช้าง-ปั๊มน้ำปลูกผักช่วยชุมชน

ถ้ามี “โซล่าร์เซลล์” อยู่ 60 แผง คุณจะเอาไปใช้ประโยชน์ยังไงได้บ้าง? สำหรับนักศึกษาในโครงการ M-150 Ideology 2010 พวกเขาแปลงเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าช่วยชาวบ้านไล่ช้างป่า ปั๊มน้ำปลูกผักช่วยชุมชน และผลิตกระแสไฟฟ้าให้ชุมชนอันห่างไกล 



      
       จัดประกวดเป็นปีที่ 3 แล้วสำหรับโครงการ M-150 Ideology 2010 โซลาร์เซลล์เพื่อชุมชนพอเพียง ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง บริษัท โอสถสภา จำกัด โดยเครื่องดื่ม เอ็ม-150 และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อคัดเลือกนักศึกษา 5 ทีมๆ ละ 10 คนไปออกค่ายก่อสร้างและติดตั้งสถานีเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้าให้แก่ชุมชนที่ห่างไกลในช่วงปิดภาคเรียนเดือน ต.ค.
      
       ทีม KU-SRCWIN จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ศรีราชา) ใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ 60 แผงเพื่อติดตั้งให้แก่โรงเรียนบ้านเก่าค้อ ใน ต.หนองมะนาว อ.คง จ.นครราชสีมา เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้แก่ชุมชนในหมู่บ้านใกล้เคียงกับโรงเรียน และใช้กระแสไฟฟ้าเพื่อจ่ายน้ำไปตามท่อประปาของหมู่บ้าน อีกทั้งยังใช้ในน้ำจากระบบประปาสำหรับแปลงผักในโรงเรียนด้วย
      
       ศราวุธ จันใด นิสิตปี 3 สาขาคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ศรีราชา) สมาชิกทีม KU-SRCWIN บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า โครงการนี้มีส่วนให้เกิดความพอเพียงในชุมชน ซึ่งนอกจากช่วยลดค่าประชาในหมู่บ้านและช่วยไม่ให้ปั๊มน้ำประปาในหมู่บ้านทำงานหนักแล้ว ยังช่วยโรงเรียนประหยัดค่าไฟฟ้า สามารถปลูกผักและเป็นแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนได้
      
       ด้าน ทีมเวิร์ค นำแผงเซลล์แสงอาทิตย์ไปช่วยเหลือชาวสวนยางพาราและชาวบ้านใน ต.บ้านดง อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก โดย รัฐศักดิ์ ดายี่ นิสิตปี 3 สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าให้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ ฟังว่า เซลล์แสงอาทิตย์ 60 แผงนั้นผลิตกระแสไฟฟ้าได้วันละ 11,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมง หรือ 11 หน่วย โดยสมาชิกทีมได้ร่วมกันติดตั้งสถานีเซลล์แสงอาทิตย์ ณ โรงเรียนบ้านเนินทอง ต.บ้านดง ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งได้จ่ายให้แก่สถานีชาร์จแบตเตอรีสำหรับชาวสวนยางพาราที่ต้องกรีดยางในตอนกลางคืน
      
       นอกจากนี้ ยังแจกจ่ายกระแสไฟฟ้าออกไปอีก 3 ส่วน คือ สำหรับเครื่องสูบน้ำ เครื่องกรองน้ำดื่มและไฟส่องสว่างเวลากลางคืนสำหรับใช้ภายในโรงเรียน โดยในเวลากลางคืนเสาไฟฟ้าที่สมาชิกทีมเวิร์คร่วมกันสร้างขึ้นจะใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรีที่สำรองพลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์ในตอนกลางวัน ซึ่ง รัฐศักดิ์กล่าวว่าโครงการนี้จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กนักเรียนได้มีอาหารกลางวันฟรีจากแปลงผักที่ใช้น้ำซึ่งสูบด้วยกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
      
       “โรงเรียนเป็นอาคารไม้ ดังนั้น การเดินสายไฟในอาคารอาจเสี่ยงไฟไหม้ เราจึงติดตั้งเสานอกอาคารและเดินสายไฟใต้ดิน และติดตั้งปั๊มน้ำอัตโนมัติตามจุดต่างๆ ของอาคารในโรงเรียนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ครูและนักเรียน ซึ่งโรงเรียนบ้านเนินทองนี้เป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่เพิ่งเปิดสอนชั้นมัธยมต้น มีนักเรียนอยู่ 300 คน” รัฐศักดิ์
      
       ทั้งนี้ ในการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์นั้นสมาชิกทีมเวิร์คจะหันแผงเซลล์ไปทางทิศใต้ ซึ่งเป็นทิศที่มีงานวิจัยว่าเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับการติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ในไทย และเอียงแผงเซลล์ประมาณ 17 องศา แต่ตามมาตรฐานทั่วไปจะเอียงประมาณ 15 องศา
      
       มาถึงทีม พยัคฆ์ล้านนา จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เขตพื้นที่ภาคพายัพ เชียงใหม่ ซึ่งเป็นทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวดของโครงการนั้นได้นำเซลล์แสงอาทิตย์ไปผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์ทดแทนแก่โรงเรียนบ้านพลั่งแท อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่
      
       วสันต์ จันทร์ทน้อย สมาชิกทีมพยัคฆ์ล้านนา จากสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาฯ กล่าวว่า เดิมโรงเรียนบ้านพลั่งแทนั้นติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์อยู่แล้ว แต่ได้พลังงานไฟฟ้าไม่เพียงพอ จึงได้เลือกโรงเรียนแห่งนี้เป็นสถานที่ติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในโครงการ โดยแบ่ง 55 แผงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในโรงเรียน และอีก 5 แผงสำหรับระบบกระจายเสียงของตำบล
      
       เมื่อถามถึงความยากลำบากในการทำงาน วสันต์บอกว่าการเดินทางค่อนข้างยากลำบาก ต้องเวลาเวลาเดินทางถึงหมู่บ้านนาน 8 ชั่วโมง เนื่องจากหมู่บ้านห่างจากตัวอำเภอ 40 กิโลเมตรและเส้นทางสัญจรลำบาก นอกจากนี้ยังไม่มีสัญญาณโทรศัพท์และมีจุดบริการโทรศัพท์แค่จุดเดียว โดยอาศัยการจูนคลื่นวิทยุและเมื่อฝนตกจะไม่สามารถใช้บริการ นอกจากนี้ยังมีปัญหาในการสื่อสารกับคนในหมู่บ้านซึ่งเป็นชาวเผ่าปกากะญอ จึงต้องมีล่ามช่วยแปล
      
       ทางด้าน ทีมคชสารโซลาร์เซลล์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลือกใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ช่วยชาวบ้านใน ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ไล่ช้างป่าที่ออกมาป่ามากินพืชไร่ของชาวบ้าน ซึ่ง สุรเชษฎ์ เสมอเหมือน สมาชิกทีมจากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า บอกว่าชาวบ้านมีพื้นที่เพาะปลูกในบริเวณเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง และพบปัญหาช่างป่าเดินผ่านมาเป็นประจำ จึงมีแนวคิดใช้เซลล์แสงอาทิตย์ผลิตกระแสไฟฟ้าจ่ายให้แก่รั้วไฟฟ้าที่เป็นแนวป้องกันช้างป่า
      
       วงจรที่ทีมคชสารโซลาร์เซลล์ออกแบบมานั้นจะเพิ่มแรงไฟฟ้าแต่มีกระต่ำมากจนไม่เป็นอันตรายต่อช้าง หากแต่ทำให้ช้างตกใจและผลักออกแนวรั้วป้องกันเท่านั้น นอกจากนี้ยังได้กระแสไฟฟ้าให้ชาวบ้านชาร์จแบตเตอรีเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าในไร่ด้วย โดยติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ให้กระจายทั่วพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ชาวไร่ที่ต้องการชาร์จแบตเตอรีไปใช้งาน
      
       สุดท้ายคือทีมหนองกระโห้ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาตาก ใช้แผงเซลล์อาทิตย์เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ชุมชนในหมู่บ้านเลอตอ ต.แม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก ซึ่ง สุรศักดิ์ สุวรรณคาม สมาชิกทีมจากสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า กล่าวว่าก่อนที่พวกเขาจะนำแผงเซลล์ขึ้นไปติดตั้งนั้น นักเรียนในโรงเรียนของหมู่บ้านซึ่งเป็นโรงเรียนตำรวจตระเวณชายแดนและรับนักเรียนกิน-อยู่ประจำ ต้องจุดเทียนอ่านหนังสือ โดยขอรับบริจาคจากทางวัด
      
       ดังนั้น สมาชิกทีมหนองกระโห้จึงช่วยกันติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ไฟฟ้าเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาและการเกษตร รวมถึงให้แสงสว่างแก่ชุมชน โดยในภาคการเกษตรนั้นสมาชิกทีมได้ร่วมกันสร้างฝายและติดตั้งปั๊มเพื่อสูบน้ำใช้ในการเกษตรภายในโรงเรียน ซึ่งมีการปลูกข้าวเป็นอาหารกลางวันให้แก่นักเรียน
      
       ส่วนอุปสรคในการทำงานนั้น สุรศักดิ์กล่าวถึงความยากลำบากในการเข้าถึงพื้นที่ซึ่งอยู่บนดอยสูงและต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อเพื่อขนส่งอุปกรณ์เข้าไปทำงานในพื้นที่เท่านั้น อีกทั้งในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงที่สมาชิกทีมเข้าไปทำงานในพื้นที่ยังเสี่ยงต่อการเกิดดินสไลด์อีกด้วย
      
       โครงการ M-150 Ideology 2010 ได้ประกาศผลการประกวดไปเมื่อค่ำวันที่ 11 พ.ย.53 ณ ราชประสงค์เออร์เบิ้น สเปซ ถ.ราชดำริ โดยผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทุนการศึกษาจากเอ็ม-150 อีก 100,000 บาท และสถาบันการศึกษาต้นสังกัดทีมชนะเลิศได้รับทุนพิเศษอีก 50,000 บาท ส่วนอีก 4 ทีมที่เหลือได้โล่เกียรติยศ พร้อมทุนการศึกษา 20,000 บาท และสถาบันการศึกษาต้นสังกัดได้รับทุนการศึกษา 10,000 บาท
      
       ทั้งนี้ บริษัท โอสถสภา จำกัด โดยเครื่องดื่ม เอ็ม-150 และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมกันจัดโครงการ M-150 Ideology 2010 ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปีแล้ว โดยชุมชนในโครงการจะได้รับมอบสถานีเซลล์แสงอาทิตย์เป็นสมบัติส่วนรวมของชุมชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น