ขอขอบคุณข้อมูลจาก : งานประชาสัมพันธ์ กองกลาง สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ทีมวิจัย มช. คิดค้น ”ข้าวเย็บแผล” ซึ่งเป็นเส้นใยสำหรับเย็บแผลจากแป้งข้าวเจ้าชนิดย่อยสลายได้ด้วยวิธีการตาม ธรรมชาติ เพิ่มคุณสมบัติแรงดึงยืด ความทนทานน้ำ ด้วยผงนาโนคาร์บอนจากกะลามะพร้าว ให้เส้นใยสีดำเพื่อช่วยให้ศัลยแพทย์แยกแยะออกได้ง่ายเมื่อปะปนกับเลือดภายใน เนื้อเยื่อระหว่างผ่าตัด หวังสร้างผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยทรัพยากรข้าวของไทย โดยฝีมือคนไทย เพื่อประชาชนไทย
รศ.นพ.สิทธิพร บุณยนิตย์ หัวหน้าโครงการวิจัย “วัสดุเย็บแผลชนิดย่อยสลายได้ผลิตจากแป้งข้าวเจ้า” (Absorbable Suture Made From Rice Starch) จากภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และหน่วยวิจัยชีววัสดุและเครื่องมือแพทย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ข้าว คือจิตวิญญาณของคนไทย ถึงแม้ประเทศไทยจะไม่ใช่ผู้ผลิตข้าวอันดับหนึ่งของโลก แต่ประเทศไทยก็มักจะเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกอยู่เสมอมา ส่วนใหญ่ไทยส่งออกข้าวในรูปข้าวสารซึ่งมีราคาต่ำที่สุดของห่วงโซ่มูลค่า วิธีการหนึ่งที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวไทยคือการปรุงแต่งข้าวให้เป็น ผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะวัสดุทางการแพทย์ที่มีราคาสูง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยีชั้นสูงที่ประเทศไทยต้องนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ ในปี 2550 ประเทศไทยนำเข้าเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นจำนวนเงินประมาณ 90,000 ล้านบาท ไม่นับรวมเวชภัณฑ์ทางการแพทย์และเภสัชกรรม อีกกว่า 60,000 ล้านบาท คณะผู้วิจัยมีเป้าประสงค์เพื่อ สร้างผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ขึ้นเองในประเทศ สำหรับประชาชนชาวไทย โดยการใช้เทคโนโลยีต้นทุนต่ำ ด้วยทรัพยากรธรรมชาติหลักของประเทศไทย และคาดหวังที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถจดสิทธิบัตรได้
ทีมวิจัยจึงได้คิดค้น ”ข้าวเย็บแผล” หรือ วัสดุเย็บแผลชนิดย่อยสลายได้ผลิตจากแป้งข้าวเจ้าขึ้น โดยเป็นวัสดุเย็บแผลแบบเส้นใยเดี่ยว ที่ได้ปรับปรุงสมบัติเชิงกลของแผ่นฟิล์มโพลิเมอร์แป้งข้าวเจ้าให้ดีขึ้นจาก การผสมสารตัวช่วย ได้แก่ เจลาติน คาร์บอกซีเมทธิลเซลลูโลส และผงคาร์บอนขนาดนาโนเมตร โดยคณะผู้วิจัยได้พัฒนาวิธีบดโม่แบบสั่นสะเทือนเพื่อผลิตผงนาโนคาร์บอนจาก กะลามะพร้าว ทำให้ได้ผงนาโนคาร์บอนปริมาณมากต่อครั้งด้วยราคาไม่แพงและมี ความบริสุทธิ์สูง จากการทดสอบความแกร่งทางแรงดึง แสดงให้เห็นชัดเจนว่าการเติมผงนาโนคาร์บอนสามารถช่วยปรับปรุงสมรรถภาพความทน ทานน้ำและความแกร่งให้กับแผ่นฟิล์มโพลิเมอร์แป้งข้าว ซึ่งพบว่าเส้นใยเย็บแผลจากแป้งข้าวเจ้าที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 มม. สามารถยกขวดบรรจุน้ำหนักมากกว่า 400 กรัม นอกจากนั้นสีดำของผงนาโนคาร์บอนยังช่วยให้ศัลยแพทย์สังเกตแยกแยะออกได้ง่าย เมื่อต้องปะปนกับเลือดภายในเนื้อเยื่อระหว่างผ่าตัดอีกด้วย
สำหรับขั้นตอนการประดิษฐ์เป็นวิธีที่เรียบง่าย ได้แก่ การผสมวัตถุดิบในน้ำ ร้อนแล้วอบแห้งในเตาไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์สุดท้ายจะถูกตรวจวิเคราะห์สมบัติเชิง เคมีฟิสิกส์ การจับถือ และชีววิทยา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ข้าวเย็บแผลมีสมบัติที่เหมาะสมจะเป็นวัสดุเย็บแผล กล่าวคือ สามารถคงรูปเมื่ออยู่ในน้ำ มีค่าแรงดึงยืดขนาดสูงข้าวเย็บแผลยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่อง จากผลิตจากวัสดุที่ไม่เป็นพิษด้วยวิธีการที่ไม่สลับซับซ้อน จึงสามารถถูกย่อยสลายได้ง่ายด้วยวิธีการตามธรรมชาติและไม่มีผลข้างเคียงชนิด ร้ายแรง
รศ.นพ.สิทธิพร บุณยนิตย์ กล่าวเพิ่มเติมถึง แผนงานในอนาคตว่า ขั้นตอนต่อไปของการประดิษฐ์คือ การบีบอัดและฉีดให้เป็นเส้นใย การติดเข็มเย็บ การทดสอบความเข้ากันได้ในสิ่งมีชีวิตและการใช้งานจริงทางสัตว์ทดลองและทาง คลินิก ซึ่งคาดว่าหากโครงการวิจัย “วัสดุเย็บแผลชนิดย่อยสลายได้ผลิตจากแป้งข้าวเจ้า” สามารถนำไปใช้ได้อย่างแพร่หลายในอนาคตจะส่งผลดีทั้งต่อวงการวิทยาศาสตร์ วงการแพทย์ ตลอดจนการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทย โดยในทางวิทยาศาสตร์นั้น จะก่อให้เกิดนวัตกรรมชีววัสดุ เป็นการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีการประดิษฐ์ที่มีต้นทุนต่ำ และเกิดการปฏิรูปงานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย สำหรับในทางการแพทย์ วัสดุเย็บแผลชนิดย่อยสลายได้ผลิตจากแป้งข้าวเจ้า นับเป็นการพัฒนาวัสดุเย็บแผลชนิดใหม่ที่มีราคาถูก เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเกิดการจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ของไทย ในด้านของผลดีทางเศรษฐกิจนั้น นับ ว่าผลงานวิจัยชั้นนี้ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวเจ้าไทย ให้เกิดผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ของประเทศไทย จากฝีมือนักวิจัยไทย เพื่อช่วยลดการนำเข้า ตลอดจนช่วยส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ของประเทศไทยในอนาคต
และนับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ผลงานวิจัย “วัสดุเย็บแผลชนิดย่อยสลายได้ผลิตจากแป้งข้าวเจ้า” นี้ ได้รับการประกาศเกียรติคุณรางวัลชนะเลิศการประกวดบทความทางการแพทย์ ในหัวข้อนวัตกรรมใหม่ของไหมเย็บแผลแห่งโลกอนาคตระดับประเทศ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2551 ซึ่งจัดโดยบริษัทบี.บราวน์ (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นตัวแทนของประเทศไทยเข้าไปประกวดระดับนานาชาติ ในหัวข้อ “The Future of Sutures” (FUSU) ณ สำนักงานใหญ่ของ Aesculap Academy กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันนีต่อไป
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้วิจัยพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับข้าวเจ้าอีกหลายผล งาน อาทิ ก้อนพรุนแบบอ่อนนุ่มสำหรับใช้ทดแทนกระดูกมนุษย์ผลิตจากข้าวเจ้าผสมกระดูกวัว แผ่นไฮโดรเจลที่มีฤทธิ์กรดผลิตจากข้าวเจ้าสำหรับห้ามเลือดในงานผ่าตัด แผ่นฟองข้าวเจ้าที่อุ้มน้ำได้ปริมาณมากสำหรับใช้ห้ามเลือดในงานผ่าตัด ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญทอง ในสาขาสุขภาพ จากโครงการประกวดผลงานสิทธิบัตรการประดิษฐ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ “ราชันแห่งปัญญา พัฒนาไทยให้ยั่งยืน” ซึ่งจัดโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา เมื่อปี 2550 ที่ผ่านมาด้วย.
---------------------------------------------------------------------------------------
จากหน่วยวิจัยชีววัสดุและเครื่องมือแพทย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รศ.นพ.สิทธิพร บุณยนิตย์ หัวหน้าโครงการวิจัย (คนกลาง)
นายอนุชา รักสันติ
นายอนิรุทธิ์ รักสุจริต
นายรังสฤษฏิ์ คุณวุฒิ
นางสาวพันธุ์ทิพย์ นนทรี
*หมายเหตุ งานเขียนชิ้นนี้ ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิทางปัญญา โดยลิขสิทธิเป็นของผู้เขียน ที่ให้เกียรตินำเผยแพร่ผ่าน วิชาการ.คอม เรามีความยินดีและอนุญาตให้ทำซ้ำหรือเผยแพร่ต่อเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา เท่านั้น กรุณาให้เกียรติผู้เขียน โดยอ้างชื่อผู้เขียนและแหล่งข้อมูลทุกครั้งที่ทำการเผยแพร่ต่อ ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อในสื่อที่เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจก่อนได้รับอนุญาต ขอขอบคุณที่ร่วมกันช่วยสร้างให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งปัญญา
สงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต ครีเอทีฟคอมมอนส์ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. ท่านสามารถนำเนื้อหาในส่วนบทความไปใช้ แสดง เผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา ห้ามใช้เพื่อการค้าและห้ามดัดแปลง |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น